รีวิว The Powerpuff Girls
“น้ำตาล เครื่องเทศ สารพัดของกุ๊กกิ๊ก ทั้งหมดคือเครื่องปรุงที่เลือกสรรเพื่อสร้างสาวน้อยสมบูรณ์แบบ แต่ศาสตราจารย์ยูโทเนียม เติมสารพิเศษอีกอย่างลงไปในส่วนผสมโดยไม่ตั้งใจ ‘สารเคมี X’ จึงได้เกิดเป็นพาวเวอร์พัฟฟ์ เกิลส์ ด้วยพลังเหนือมนุษย์ที่มีอยู่ในตัว บลอสซัม! บับเบิลส์! บัตเตอร์คัพ! จึงอุทิศชีวิตให้การต่อสู้อาชญากรรม และพลังอำนาจแห่งความชั่วร้าย!”
หลายคนที่มีวัยเด็กในช่วงปี 2000s น่าจะเคยได้ยินประโยคเปิดของการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่เรื่องนี้กันมาบ้าง แม้บางคนจะไม่สามารถระบุได้ว่าคนไหนคือ บลอสซัม บับเบิลส์ หรือบัตเตอร์คัพ แต่ความโด่งดังของเด็กผู้หญิง 3 คนนี้ ก็ท่วมท้นเสียจนยากที่เด็ก ๆ ซึ่งโตมากับช่องการ์ตูนระดับโลกอย่าง Cartoon Network จะไม่รู้จักหัวกลม ๆ ตาโต ๆ และพลังวิเศษแสนน่าทึ่งของฮีโร่ทั้งสาม
เดอะ พาวเวอร์พัฟฟ์ เกิลส์ (The Powerpuff Girls) เป็นการ์ตูนสัญชาติอเมริกัน ที่ออกอากาศมาแล้ว 6 ซีซั่น เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 1998 มาจนถึงกลางปี 2005 นับว่าเป็นการ์ตูนอีกเรื่องที่แจ้งเกิดในยุคทองของช่อง Cartoon Network ซึ่งขณะนั้น มีการ์ตูนดังอย่าง ห้องแล็บของเด็กซ์เตอร์ (1996) จอห์นนี่ บราโว (1997) และเคอเรจ หมาน้อยผู้กล้าหาญ (1999) กำลังฉายอยู่
เรื่องราวของเดอะ พาวเวอร์พัฟฟ์ เกิลส์ เริ่มต้นขึ้นจากการที่ ศาสตราจารย์ยูโทเนียม (Professor Utonium) นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง พยายามคิดค้นหาวิธีสร้างสาวน้อยสมบูรณ์แบบขึ้นโดยการผสมน้ำตาล เครื่องเทศ และสารพัดของกุ๊กกิ๊ก แต่ตอนนั้นเขาเผลอกวนไม้พายไปชนกับภาชนะใส่สารเคมีที่มีชื่อว่า ‘X’ จนมันหกลงมาใส่ถังผสม ทุกอย่างทำปฏิกิริยากันจนระเบิด และเกิดมาเป็นสาวน้อย 3 คนที่มีพลังพิเศษเหนือมนุษย์
ศาสตราจารย์ยูโทเนียมตั้งชื่อให้เด็กผู้หญิงผมแดง ที่มีคำพูดคำจาฉลาด มีบุคลิกเป็นผู้นำ และมีลักษณะของนักคิดว่า บลอซซัม (Blossom) ส่วนเด็กผู้หญิงผมบลอนด์ ตาสีฟ้า ที่ดูบอบบาง รักสัตว์ และชอบของน่ารัก ชื่อ บับเบิลส์ (Bubbles)
ส่วนคนสุดท้ายเด็กหญิงผมดำ หน้าตาไม่รับแขก นิสัยห้าวหาญ และชอบใช้กำลัง เธอมีชื่อว่า บัตเตอร์คัพ (Buttercup) แม้เด็ก ๆ จะมีนิสัยและความสนใจที่แตกต่าง แต่เพราะพวกเธอก็ยังรักและสนิทกันเหมือนพี่น้อง ทั้งสามอุทิศตนเป็น ‘ฮีโร่’ ที่ปกป้องเมืองทาวน์สวิลล์ (Townsville) โดยมีนักวิทยาศาสตร์ผู้สร้างคอยดูแลราวกับพ่อแท้ ๆ
รีวิว The Powerpuff Girls
เรื่องราวที่เกิดขึ้นในเดอะ พาวเวอร์พัฟฟ์ เกิลส์ มีตั้งแต่การต่อสู้กับเหล่าร้าย อย่างซาตานที่ใส่ส้นสูง ลิงอัจฉริยะที่คอยสร้างสิ่งประดิษฐ์แปลก ๆ หรือแก๊งอันธพาลที่ชอบรังแกคนที่อ่อนแอกว่า ไปจนถึงการจัดการกับปัญหาที่เด็กทุกคนต้องเจออย่างการฉี่รดที่นอน การทะเลาะกับเพื่อน หรือฟันน้ำนมหลุดครั้งแรก การ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้พูดถึงแต่เรื่องราวการของซูเปอร์ฮีโร่ ที่สุดท้ายธรรมะย่อมชนะอธรรม แต่ยังนำเสนอปัญหาที่เราทุกคนต้องเจอสมัยเด็กอีกด้วย
“ที่จริงผมก็ไม่ได้ออกแบบโดยมองว่าพวกเธอเป็นเด็กผู้หญิง (girls) ผมแค่ออกแบบโดยมองพวกเธอเป็นเด็กทั่วไป (kids) พวกเขาไม่สนหรอกว่าเพศสภาพเขาเป็นอะไร ก็แค่กำลังเผชิญกับปัญหาในวัยของตัวเองเท่านั้น” เครก แมคแครกเกน (Craig McCracken) ผู้สร้างเดอะ พาวเวอร์พัฟฟ์ เกิลส์ กล่าว
เขาบอกว่า ไอเดียซูเปอร์ฮีโร่ในร่างเด็กผู้หญิง เริ่มต้นจากความคิดตลก ๆ ที่เขาวาดขึ้นมาสมัยเรียน เครกอยากลองผสมสิ่งที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกัน อย่าง ‘ความน่ารัก’ กับ ‘พลังวิเศษ’ ที่ประกอบด้วย การเหาะเหินเดินอากาศ พละกำลังเหนือมนุษย์ และสายตาเลเซอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สมัยเด็กเขาเคยเจอในหนังสือการ์ตูนฮีโร่ จากนั้นก็คอยดูว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไรบ้าง
ต้นฉบับส่วนผสมของพาวเวอร์พัฟฟ์ เกิลส์ มาจากส่วนหนึ่งของเพลงกล่อมเด็กชื่อ What Are Little Boys Made Of? ที่ถูกแต่งขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ท่อนหนึ่งในเพลงนั้นเขียนว่า “Sugar and spice and all things nice. That’s what little girls are made of.” (น้ำตาล เครื่องเทศ และสารพัดสิ่งดีงาม คือสิ่งที่ใช้สร้างเด็กผู้หญิง) ส่วนผสมเหล่านี้ถูกคิดค้นขึ้นมา เพื่อสร้างเด็กหญิงที่งดงามและสมบูรณ์แบบตามค่านิยมยุคก่อน แต่จะเป็นอย่างไร ถ้าในส่วนผสมของความงาม มีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อนลงไปด้วย พวกเธอจะยังงามอยู่ไหม หากไม่เป็นไปตามสิ่งที่ค่านิยมกำหนด? และนั่นก็คือที่มาของ ‘สารเคมี X’
ความรู้สึกหลังดู
หลังจากที่เดอะ พาวเวอร์พัฟฟ์ เกิลส์ ตอนแรกฉายออกไป เพราะส่วนผสมที่ลงตัวของเด็กผู้หญิงหน้าตาน่ารักกับคอนเซ็ปต์ฮีโร่ พวกเธอจึงดึงดูดความสนใจได้ทั้งกลุ่มเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง สีสันที่เลือกใช้ก็สดใส เนื้อเรื่องแบบจบในตอนก็น่าสนใจและตลก
สามตัวละครหลักที่มีนิสัยต่างกันมาก ๆ ก็ถือเป็นมุมมองใหม่ที่พาวเวอร์พัฟฟ์ เกิลส์ นำเสนอให้โลกเห็นว่าเด็กผู้หญิงไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ดูเหมือน ๆ กัน พวกเธอมีอุปนิสัย มีความสนใจที่ต่างกันได้ และสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือเป็นเด็กอย่างไร พลังที่ใช้ช่วยเหลือคนอื่นก็ทำให้พวกเธอกลายเป็น ฮีโร่
หลายคนพยายามเชื่อมโยงว่าเดอะ พาวเวอร์พัฟฟ์ เกิลส์ เป็นการ์ตูนของเหล่าเฟมินิสต์ในยุคนั้น เพราะช่วงปี 1998 ที่การ์ตูนเริ่มฉาย สหรัฐอเมริกากำลังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวคิดสตรีนิยม (Feminism) ซึ่งถ้านับเวลาดูแล้วน่าจะเป็นคลื่นลูกที่สาม
ซึ่งเน้นเรียกร้องความเท่าเทียมให้กลุ่มคนที่มี ‘ความหลากหลาย’ ไม่ว่าจะเป็นในแง่อัตลักษณ์ทางเชื้อชาติ เพศสภาพ และวัฒนธรรม พวกเธอยังให้ความสำคัญกับประเด็นความรุนแรงที่เกิดกับผู้หญิงด้วย เมื่อมีการ์ตูนฮีโร่ที่มีรูปลักษณ์เป็นเด็กผู้หญิงออกมามันจึงถูกเชื่อมโยงเข้ากับแนวคิดดังกล่าวได้โดยง่าย
แต่สรุปแล้วเดอะ พาวเวอร์พัฟฟ์ เกิลส์ เป็นการ์ตูนเฟมินิสต์หรือเปล่า? คำถามดังกล่าว เครก แมคแครกเกนให้คำตอบว่า ทีแรกเขาไม่ได้ตั้งใจจะทำให้เดอะ พาวเวอร์พัฟฟ์ เกิลส์ เป็นการ์ตูนของเหล่าเฟมินิสต์ เขาแค่อยากทำการ์ตูนที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก แม่ ที่คอยดูแลเลี้ยงดูเขาและพี่สาวมาตั้งแต่เด็กเท่านั้น การเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีแม่และพี่สาวเป็นใหญ่ (ในความคิดของเครก) ทำให้เขาไม่รู้สึกว่ามันแปลกอะไร กับการที่เด็กผู้หญิงจะเป็นฮีโร่
“ตอนผมยังเด็ก ผมสนิทกับพี่สาวมาก เธอทั้งดื้อ หัวรั้น และเอาแต่ใจ แต่ก็ปกป้องผมทุกทีที่มีเรื่อง ไอเดียของผู้หญิงที่แข็งแกร่ง และทรงพลัง ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยในชีวิตผม” คำตอบเช่นนี้ อาจทำให้เรามองเห็นได้ชัดขึ้น ว่าตัวการ์ตูนศาสตราจารย์ยูโทเนียม ไม่ต่างอะไรจากตัวแทนของ ‘แม่’ ในความทรงจำของเครก เธอทั้งเก่งและมีความสามารถมากพอที่จะดูแลครอบครัวได้ทั้งในและนอกบ้าน ก็เหมือนกับศาสตราจารย์ที่เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์และพ่อบ้านที่ดูแลเหล่าพาวเวอร์พัฟฟ์ เกิร์ลได้เป็นอย่างดี
เดอะ พาวเวอร์พัฟฟ์ เกิลส์ ไม่ได้เป็นเรื่องราวของเด็กสาวสมบูรณ์แบบ พวกเธอยังเป็นเพียงเด็กน้อยไร้เดียงสา ที่บางทีก็เสียท่าเพราะความไม่รู้และเอาแต่ใจ แต่ไม่ว่าจะเพลี่ยงพล้ำให้ศัตรูอย่างไร สาเหตุที่พวกเธอยังพลิกกลับมาเอาชนะได้ก็เพราะความไม่ย่อท้อและการร่วมมือกัน นี่อาจจะเป็นหัวใจสำคัญของการ์ตูนเรื่องนี้ พอ ๆ กับการพยายามสอนว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็กผู้หญิงหรือเด็กผู้ชาย ใคร ๆ ก็เป็นฮีโร่ได้ เพียงแค่กล้าหันมาเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่ถูก
แนวคิดนี้ค่อย ๆ หยั่งรากลึกและฝังตัวอยู่ในหัวใจของเด็ก ๆ มาตลอด 20 ปี พวกเขาที่เติบโตมาเป็นหนุ่มสาวในยุคนี้ อาจจะยังมีเรื่องที่ต้องดิ้นรนอีกมากมาย คู่ต่อสู้ของพวกเขาอาจไม่ได้มาในรูปแบบของปีศาจหรือผู้ร้าย แต่เป็นเจ้านาย ครอบครัว สังคม หรือแม้แต่ความอยุติธรรมที่เราเคยมองผ่านไปโดยไม่หันมาช่วยแก้
แม้ชีวิตของทุกคนจะยังต้องเจอกับเรื่องเลวร้าย ผู้เขียนหวังว่าเด็ก ๆ ที่มีเดอะ พาวเวอร์พัฟฟ์ เกิลส์ในหัวใจจะค่อย ๆ ฝ่าฟันผ่านปัญหาเหล่านั้นไปด้วยความอดทน ไม่ย่อท้อ และด้วยวิธีการที่ถูก ขอให้อุดมการณ์ทั้งหมดนี้ งอกงามและเติบโตขึ้นต่อไป ไม่ว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ อนาคตที่ดีกว่ายังคงรออยู่ข้างหน้าเสมอ