รีวิว Song of the Sea (2014)
วันนี้แอดจะมาแนะนำอนิเมชั่นงานภาพโคตรสวยเรื่องนี้ สร้างโดยผู้กำกับชาวไอริช Tomm Moore ได้เข้าชิง Oscar: Best Animated Feature น่าเสียดายไม่ได้รางวัล, ดัดแปลงจากเรื่องเล่าตำนาน Celtic Mythology การผจญภัยของเด็กชาย เพื่อช่วยเหลือน้องสาวที่เป็น Selkie (ครึ่งมนุษย์ครึ่งแมวน้ำ) ที่ทำให้เขาค้นพบกับโลกแฟนตาซีล้ำจินตนาการ, “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
นี่เป็นอนิเมะที่มีงานภาพสวยม๊ากกก ไม่ใช่ในความสมจริง เลิศหรู อลังการ แต่เป็นความวิจิตรงดงาม ลวดลายล้ำลึกตระการตา และมีกลิ่นอายที่ตลบอบอวลด้วยความหอมกรุ่น นุ่มนวล อ่อนหวาน, โดยปกติแล้วอนิเมชั่นลักษณะนี้จะพบเห็นได้เฉพาะที่ญี่ปุ่นเท่านั้น
ไม่ค่อยพบเห็นในฝั่งอเมริกาหรือยุโรป (อนิเมชั่นฝั่งอเมริกาจะเน้นขายตลาด, ยุโรปเน้นขายงานศิลปะ, เอเชียเน้นขายอารมณ์และวัฒนธรรม) แต่เมื่อโลกปัจจุบันแคบลง ผลงานฝั่งตะวันออกได้เผยแพร่เข้าสู่ฝั่งตะวันตก
นี่น่าจะเป็นสตูดิโอแรกๆที่ผสมผสานอิทธิพลจากโลกตะวันออกเข้ากับโลกตะวันออก (ยุโรป) กลายมาเป็นอนิเมชั่นที่มีความโดดเด่นในด้านศิลปะ อารมณ์และวัฒนธรรม
ในปีนั้น Oscar: Best Animated Feature น่าผิดหวังมาก เพราะเรื่องที่ได้รางวัลคือ Big Hero 6 ของ Walt Disney เอาชนะทั้ง The Boxtrolls, Song of the Sea, The Tale of the Princess Kaguya และ The Lego Movie (ที่ไม่ได้เข้าชิง)
ผมถือว่าเป็นปีอัปยศที่สุดของสาขานี้ แปลกที่กลับไม่มีใครออกมาโวยวายเรียกร้อง, นับตั้งแต่มี Oscar: Best Animated Feature ตั้งแต่ปี 2001 มีเพียง 2 ครั้งเท่านั้นที่อนิเมะต่างชาติ ไม่ได้สร้างโดยอเมริกาได้รางวัล,
ถ้าใครยังเชื่อถือสาขานี้ว่าคือ อนิเมชั่นที่ดีที่สุดแห่งปีจริงๆ แสดงว่าคุณไม่ใช่คออนิเมะเลยนะครับ (ผมเรียก Oscar สาขานี้ว่า อนิเมชั่นของอเมริกาที่ดีที่สุดแห่งปี, ดูสิว่าจะเป็นแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน)
Cartoon Saloon สตูดิโออนิเมชั่นของประเทศ Ireland ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1999 โดย Tomm Moore, Nora Twomey และ Paul Young ที่ได้พบกันขณะเรียนทำอนิเมชั่นที่ Ballyfermot Senior College, Dublin เมืองหลวงของประเทศ Ireland, หลังตั้งบริษัท ช่วงแรกๆมีผลงานอนิเมชั่นขนาดสั้นหลายเรื่อง จนกระทั่งปี 2010 ได้มีผลงาน debut อนิเมชั่นขนาดยาว The Secret of Kells ที่ได้เข้าชิง Oscar: Best Animated Feature ในปีนั้นด้วย
รีวิว Song of the Sea (2014)
Song of the Sea เป็นผลงานลำดับที่ 2 ของสตูดิโอนี้ ใช้เวลานับตั้งแต่เตรียมการจนเสร็จสิ้นเกือบ 5 ปี จุดเริ่มต้น ได้แรงบันดาลใจมาการไปเที่ยวทะเลกับลูกชายของผู้กำกับ Tomm Moore บริเวณทะเลฝั่งตะวันตกของประเทศ Ireland
แล้วได้พบเห็นแมวน้ำเกยตื้นเสียชีวิตอยู่บนหาดจำนวนมาก คนพื้นที่บอกว่า ชาวประมงฆ่าพวกมันเพราะความโกรธแค้นที่หาปลาไม่ได้ (ถูกแมวน้ำแย่งจับกินปลาหมด) ถ้าเป็นเมื่อหลายปีก่อนคงไม่มีทางเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นแน่
เพราะพวกเรามีความเชื่อว่า แมวน้ำเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือวิญญาณของมนุษย์ที่เสียชีวิตในทะเล ล่องลอยกลับมาเกิดเป็นแมวน้ำ (ตามตำนานของ Selkie)
Selkies เป็นสัตว์ในเรื่องเล่าปรัมปรา (Mythological) ค้นพบได้ในเรื่องเล่าพื้นบ้าน (folklore) ของ Irish, Scottish และ Faroese ว่ากันว่า Selkies มี 2 ร่างในตัว อาศัยอยู่ในทะเลเป็นแมวน้ำ (Seals) แต่เมื่อขึ้นบกก็สลัดผิวแล้วกลายเป็นมนุษย์,
ตามตำนานเล่าว่า Selkies ผู้ชายในร่างมนุษย์จะหล่อมาก และมีความสามารถทำให้มนุษย์ผู้หญิงเกิดความหลงใหลคลั่งไคล้ (เน้นจีบหญิงหม้าย ที่สามีออกทะเลไม่ยอมกลับบ้าน), ส่วน Selkies ผู้หญิง มักจะไม่ค่อยปรากฎตัวให้เห็น
จะมีจุดอ่อนคือ ถ้ามนุษย์ผู้ชายคนใดขโมยผิวหนังของเธอไป (ผิวที่สลัดออกขณะขึ้นบก) จะทำให้พลังลดลงและยอมทำทุกอย่าง รวมถึงเป็นภรรยาของเขา, ตำนานบอกว่า Selkies เป็นภรรยาที่สวยและนิสัยดีมากๆ
ชอบนั่งเหม่อลอยดูท้องทะเล (เพราะคิดถึงบ้าน) ผู้ชายต้องซ่อนผิวนั้นไว้ให้ดีละ เพราะถ้าเธอค้นพบเจอก็จะขโมยแล้วหนีกลับลงทะเลโดยทันที ไม่กลับมาหาอีก (ยกเว้นถ้ามีลูกกันแล้ว เธอมักจะกลับมาหาลูกนานๆครั้ง)
ความรู้สึกหลังดู
เรื่องราวของ Song of the Sea เป็นการผจญภัยของ Ben (ภาษา Hebrew แปลว่าลูกชาย) [พากย์เสียงโดย David Rawle] ที่ได้สูญเสียแม่ไปตั้งแต่เด็ก (เพราะคิดว่าแม่จมน้ำตาย ทำให้กลายเป็นโรคกลัวน้ำ) มีน้องสาว Saoirse (แปลว่า อิสระภาพ, freedom)
[พากย์เสียงโดย Lucy O’Connell] ที่ยังพูดไม่ได้ ไม่มีท่าทีว่าจะพูดได้ และหมาเพื่อนรัก Cú (ภาษา Irish แปลว่า Hound) ที่จงรักภักดีอย่างยิ่ง, ครั้งหนึ่งย่าจอมเจ้ากี้เจ้าการ ได้บังคับพาสองพี่น้องให้ออกจากอ้อมอกพ่อ (ที่ยังโศกเศร้า อมทุกข์ ทำใจในความสูญเสียภรรยาไม่ได้) ไปอยู่ในเมืองที่มีความสับสนวุ่นวาย นั่นไม่ใช่ที่ของพวกเขาทั้งสอง จึงแอบหนีออกมาเพื่อเดินทางกลับบ้านระหว่างทาง สองพี่น้องได้ใช้ชีวิตร่วมกัน พบปะผู้คน เรื่องราวอะไรแปลกๆมากมาย ซึ่งเรื่องราวในโลกแฟนตาซี จะสอดคล้อง ใกล้เคียงหรือสะท้อนเหตุการณ์กับโลกความจริงที่สองพี่น้องได้พบเจอ (นี่ถ้าใครเคยทำความเข้าใจ Pan’s Laybrith มา ก็อาจจะมองเห็น ตีความได้ในลักษณะเดียวกัน)
พ่อ ผู้มีความทุกข์โศกเศร้าเสียใจจากการที่แม่จากไป ในโลกแฟนตาซีเขาเปรียบได้กับ Mac Lir ยักษ์ที่ร้องไห้จนน้ำท่วมโลกด้วยความเศร้าโศกเสียใจ จน Macha ต้องทำให้เขากลายเป็นหินจึงหยุดร้องไห้, ดูจากภาพยิ่งชัด พ่อที่ยืนอยู่ กับภาพวาดพื้นหลัง Mac Lir โน้มหัวไปข้างหน้าเหมือนกัน สีผม เสื้อผ้าก็ยังคล้ายๆกันเลย
จุดประสงค์ของการใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน เพลง folksong เพื่อให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ เป็นการสืบสานรักษาและเผยแพร่อารยธรรมในอดีตของชนชาติตน สู่สายตาชาวโลก แม้คนที่ไม่เคยไปเยี่ยมเยือนก็น่าจะรับบรรยากาศนั้นได้ (หรือเปล่า)
บอกตามตรงผมยังแยกไม่ออกระหว่าง Irish, Scottish, Walesese (ทีแรกนึกว่า Ireland เป็นหนึ่งใน United Kindgom แต่ไม่ใช่นะครับ นั่นมัน Northern Ireland) ชาวยุโรป คนท้องถิ่นคงแบ่งแยกได้ จากสำเนียง การพูด นิสัย กิริยาท่าทาง ผมไม่เคยไปแถวนั้น เลยแยกไม่ออก และเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่เคยไปหมู่เกาะ Britain ก็คงแยกไม่ออกเช่นกัน, ดูอนิเมะเรื่องนี้ ผมพยายามจดจำกลิ่นอายของดนตรีพื้นบ้าน Irish ไว้นะครับ เผื่อในอนาคตมีโอกาสได้ดูหนังของกลุ่มประเทศแถบนี้ จะได้พอแยกออก ว่าประเทศไหนมีลักษณะอย่างไร (ถ้าคุณไม่สนใจก็ช่างมันก็ได้ ไม่มีใครว่าหรอก
หลังจากได้ดูอนิเมชั่นเรื่องนี้ ผมเกิดความสนใจในสตูดิโอนี้อย่างมาก มีแนวโน้มความเป็นไปได้สูง ที่ Catoon Saloon จะกลายเป็น The New Ghibli ไม่ใช่ผลงานอนิเมชั่นที่มีความคล้ายคลึงกัน แต่คือปรัชญาการสร้างอนิเมชั่น ที่ได้อิทธิพล แรงบันดาลใจ แนวคิดมาจากอนิเมชั่นของ Hayao Miyazaki และ Isao Takahata เป็นอย่างมาก และเชื่อว่าสักวันหนึ่งสตูดิโออินดี้เล็กๆนี้ จะต้องประสบความสำเร็จใหญ่ๆ แบบที่ Ghibli ยึดครองญี่ปุ่นมาแล้ว
มีนักวิเคราะห์เปรียบเทียบว่า อนิเมะเรื่องนี้ มีความคล้ายคลึงกับ Spirited Away อยู่มาก ในโครงสร้างและแรงบันดาลใจ อาทิ การใช้พื้นหลังเป็นวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น, นำเสนอประเด็นการค้นหาพิสูจน์ตนเอง ที่ต้องใช้จิตวิญญาณสัมผัส ไม่ใช่แค่ร่างกาย ฯ ถ้าเทียบกันเปะๆคงไม่ใช่ แต่ถ้าเรียกว่า แรงบันดาลใจก็คงไม่ผิด
ส่วนตัวผมรู้สึก แค่ชอบ อนิเมชั่นเรื่องนี้, สิ่งที่ประทับใจคือ ความงดงามของงานภาพ ความไพเราะของเพลงประกอบ และเรื่องราวสอดแทรกแนวคิดความกล้าหาญ การเอาชนะตัวเอง ฯ แต่ความตื้นลึกของตัวละคร และเรื่องราวที่มีมิติเดียว ทำให้อนิเมะขาดความตื่นเต้น ลุ้นระทึก … มันดูธรรมดาเกินไปเสียนิด เมื่อเทียบกับความยิ่งใหญ่ด้านอื่นๆ, ถ้าคุณยังเป็นเด็ก/วัยรุ่น ก็คงสนุกตื่นตาตื่นใจกับมันได้เต็มที่ แต่ผู้ใหญ่โตขึ้นมาหน่อย นอกจากชื่นชมความสวยงามของงานศิลปะแล้ว ก็เท่านั้นละครับ ไม่มีอะไรอย่างอื่นให้น่าค้นหาเท่าไหร่