รีวิว Pinocchio (1940)
ผลงานอนิเมชั่นขนาดยาวเรื่องที่สองของ Walt Disney คงไม่มีใครไม่รู้จัก Pinocchio เด็กชายหุ่นไม้ที่เวลาพูดโกหกแล้วจมูกจะยื่นยาวออกมา แต่ใจความของอนิเมะเรื่องนี้ ยังมีอะไรอีกมากที่สอดแทรกเอาไว้ ทั้งดีและเลว เด็กๆจะหลงรัก ผู้ใหญ่จะหลงใหล “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย”
นี่เป็นอนิเมะเรื่องหนึ่ง ที่ผมรู้ตัวว่าเคยดูมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่เคยจำได้ว่ามีเรื่องราวอะไรยังไง นอกเสียจาก ‘เวลา Pinocchio พูดโกหก จมูกจะยื่นยาวออกมา’, โตขึ้นมาผมได้ดู Pinocchio อีกหลายรอบ ครั้งสุดท้ายเมื่อหลายปีก่อน มีสิ่งหนึ่งที่ยังจำติดใจ ฉากที่จมูก Pinocchio ยื่นออกมาแค่แปปเดียวเท่านั้นเอง! ดูครั้งนี้ก็ระลึกได้อีกครั้ง นี่เป็นสิ่งที่ผมจำผิดกันมาตลอด Pinocchio ไม่ใช่เป็นเรื่องของเด็กหุ่นไม้ที่ชอบพูดโกหก แต่เป็นเรื่องราวการผจญภัยของ จิตสำนึก (Conscience) เริ่มต้นจากเด็กที่มีความไม่รู้ว่ามโนธรรมคืออะไร เติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรู้แจ้ง ว่าสิ่งไหนถูกสิ่งไหนผิด (จากหุ่นไม้กลายเป็นมนุษย์)
หลังเสร็จจาก Snow White and the Seven Dwarfs (1937) ที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม นาย Walt Disney ก็มีหลายโปรเจคที่อยู่ในความสนใจ หนึ่งในนั้นคือ The Adventures of Pinocchio ซึ่ง Walt Disney ตั้งใจให้ Pinocchio เป็นผลงานลำดับที่ 3 ถัดจาก Bambi ที่กำลังเตรียมงานสร้างอยู่ แต่พบว่า Bambi มีความยากในการดัดแปลงเรื่องราวและยังไม่รู้ว่าจะวาดภาพเคลื่อนไหวของสัตว์ออกมาได้ยังไง ทำให้สตูดิโอเลือก Pinocchio ขึ้นมาสร้างก่อน
อนิเมเตอร์ Norman Ferguson เป็นผู้นำหนังสือเวอร์ชั่นแปลของ Carlo Lorenzini (ใช้นามปากกา Carlo Collodi) ต้นฉบับเป็นภาษา Italian มาให้นาย Walt Disney ตั้งแต่ขณะทำ Snow White and the Seven Dwarfs, หลังจากอ่านจบ Walt Disney ก็มีความกระตือรื้อร้น เหมือนคนกำลังจะอกแตกตาย อยากที่จะดัดแปลงเรื่องราวจากหนังสือเล่มนี้ (Walt was busting his guts with enthusiasm.)
Carlo Lorenzini ต้นฉบับผู้แต่ง, เขาเริ่มต้นจากการเป็นนักเขียนข่าวในหนังสือพิมพ์ และชอบที่จะแสดงมุมมองทางการเมืองออกมาผ่านบทความของเขา, ซึ่งพอเขาหันความสนใจ มาเริ่มเขียนหนังสือสำหรับเด็กในปี 1875 ก็มักสอดไส้แนวคิด การแสดงออกที่แฝงอะไรต่างๆไว้มากมาย, ในปี 1880 Lorenzini เริ่มต้นเขียน Storia di un burattino (The story of a marionette) หรือที่รู้จักในชื่อ Le Avventure di Pinocchio (The Adventures of Pinocchio) ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ Il Giornale dei Bambini (หนังสือพิมพ์เด็กเจ้าแรกของอิตาลี)
มีส่วนต่างระหว่างหนังสือกับภาพยนตร์พอสมควร อาทิ นิสัยของ Pinocchio ที่ในหนังจะมีความสดใสร่าเริง ใสซื่อบริสุทธิ์ แต่จริงๆแล้วต้นฉบับ Pinocchio เป็นตัวละครที่ เย็นชา, หยาบคาย, เนรคุณ ฯ เขาจะเรียนรู้ความผิดพลาดจากการกระทำของตนเองเท่านั้น, ตัวละคร Jiminy Cricket ถูกเขียนเพิ่มเข้ามา เพื่อให้เป็น ‘จิตสำนึก’ เชิงรูปธรรมของ Pinocchio (แทนด้วย Ego ของมนุษย์ก็ได้)
รีวิว Pinocchio (1940)
หนังเริ่มต้นด้วยผู้สร้าง (The Creation) Geppetto เป็นช่างแกะสลักไม้ (woodcarver) ได้สร้างหุ่นเชิด (marionette) ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ แต่ยังคงเป็นหุ่นที่ไม่มีชีวิต, ในทางปรัชญา Geppetto เปรียบเสมือน lesser god ที่สามารถสร้างสรรค์ได้ทุกสิ่ง แต่ยังขาดความสมบูรณ์แบบ มีข้อจำกัด (เหมือนนาฬิกาทั้งหลายที่เขาสร้าง มีเวลาเป็นข้อจำกัด) เขาตระหนักได้ว่าวิธีเดียวที่จะทำให้ผลงานของเขาสมบูรณ์แบบ คือการอธิษฐานต่อ Greater God ต่อดวงดวงบนฟากฟ้า (wishes upon a star)
Pinocchio จะต้องใช้ชีวิต ต่อสู้กับสิ่งยั่วยวนทั้งหลาย ผ่านจิตสำนึก (Conscience) Blue Fairy ให้หนู? Jiminy Cricket เป็นผู้แนะนำหนทางที่ถูกต้องให้กับ Pinocchio โดยเริ่มจากขั้นแรกด้วยไปโรงเรียน (โรงเรียนเป็นสัญลักษณ์ของความรู้, knowledge) แต่มันกลับมีบางสิ่งที่เข้ามาแทรกระหว่างทางไปโรงเรียน
ตอนผมดูอนิเมะเรื่อง Mind Game มีความรู้สึกว่า ฉากที่หนีเอาตัวรอดจากท้องปลาวาฬยักษ์ มันไม่ใช่ฉากที่แปลกใหม่เลย แต่นึกไม่ออกว่าเคยเห็นจากไหน พอได้ดู Pinocchio ก็ระลึกได้ ว่าน่าจะเป็นหนัง/อนิเมะ เรื่องนี้แหละที่นำเสนอฉากนี้, ผมเจอในบทความที่ผมใส่ลิ้งค์ไว้ด้านบน พบว่าเรื่องที่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจของฉากนี้ มาจาก Book of Jonah (น่าจะเป็นหนึ่งในไบเบิ้ล) ครั้งหนึ่งเมื่อ Jonah ถูกปลาอะไรสักอย่างขนาดใหญ่กลืนกินลงไปในท้องนาน 3 วัน 3 คืน แต่ยังไม่ตาย Jonah ได้อธิษฐานขอพระเจ้าและให้สัตย์สาบานว่าจะปฏิบัติตามแนวทางของพระองค์ พระเจ้าจึงได้ขอให้ปลายักษ์คาย Jonah ออกมา
ความรู้สึกหลังดู
ที่ผมเล่ามาทั้งหมดคือด้านสว่างของหนัง ย่อหน้านี้ผมจะพูดถึงความชั่วร้ายที่แอบสอดไส้อยู่นะครับ, สัตว์เลี้ยงทั้งสองของ Geppetto ที่จะได้เป็น Cameo ในอนิเมชั่นเรื่องอื่นของ Disney อีกหลายเรื่อง ผมมานั่งคิดดูมันจะเป็นสัญลักษณ์แทนได้ด้วยอะไร, แมวสีดำ ว่ากันด้วย Common Sense คงไม่มีมนุษย์คนไหนสั่งแมวให้ไปเปิดหน้าต่างให้ แต่ที่ Geppetto สั่งได้
เพราะแมวเป็นสัตว์สัญลักษณ์แทนได้ด้วยการเป็นคนใช้ และตอนฉากที่ Pinocchio กำลังไปเรียนหนังสือ Geppetto รั้งเจ้าแมวไว้แล้วพูดว่า ที่นั่นไม่ใช่สถานที่ของนาย นี่ทำให้ผมมั่นใจเลยว่า แมว เป็นสัญลักษณ์แทนด้วย ‘คนผิวสี’ แน่ๆ (แถมแมวผิวสีดำ), สำหรับปลาทองในอ่างแก้ว ที่มีความสวยงาม ชอบเล่นหูเล่นตา เรียกร้องความสนใจ และมีการจุ๊บ (แทน Sexual) นี่ย่อมเป็นสัญลักษณ์ของ ‘เพศหญิง’
ปลาทองกับนกในกรงมีสภาพไม่ต่างกัน ต้องถูกขังไว้ ไม่สามารถเป็นอิสระได้ ทำตามคำสั่งของนายเท่านั้น ขนาดว่าในฉากหนีจากท้องปลาวาฬ ปลาทองในอ่างแก้ว ก็ยังสามารถเอาตัวรอดขึ้นฝั่งได้โดยไม่หก อ่างแก้วไม่แตก ปลาทองไม่ยอมหนีเอาตัวรอด นี่ผิดวิสัยสุดๆ, ผมมองว่า 2 ตัวละครนี้ คือทัศนคติของนาย Walt Disney ต่อคนผิวสีและผู้หญิง ที่แสดงความโคตรเหยียดหยาม (racist)
แฝงเข้าไปในหนังทุกเรื่อง (มันถึงไปโผล่ Cameo ในหลายๆเรื่อง), จริงๆไม่ใช่แค่นาย Walt Disney นะครับ แต่ทั้งบริษัทในยุคนั้นเลย ผมเคยอ่านเจอว่าบริษัท Walt Disney ในสมัยนั้น ไม่มีคนผิวสีหรือผู้หญิงที่ได้รับโอกาสให้เข้าทำงาน จะเป็นได้แค่คนใช้ แม่บ้าน ซึ่งจะถูกหยามเหยียดจากแทบทุกคนในบริษัท, นี่คือเหตุผลหนึ่งด้วย ที่ผมไม่มีอนิเมะเรื่องโปรดที่มาจากยุคของนาย Walt Disney แม้บางเรื่องอย่าง Pinocchio ที่มีแนวคิดดีมากๆ ผมชอบมากด้วย แต่การที่ผู้สร้างมันเลวร้ายแถมยังแอบสอดไส้ยาพิษในขนมหวาน ผมโตพอที่จะเห็นและไม่หลงกินมันเป็นอันขาด
ผมจัดอนิเมชั่นเรื่องนี้ “ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” แม้มันจะมีบางอย่างที่เลวๆแฝงอยู่ แต่คงมีคนไม่เยอะที่สังเกตเห็น ผมพอที่จะปิดหูปิดตา ไขว้นิ้วกัดลิ้น แนะนำอนิเมะเรื่องนี้ได้นะครับ, กับเรื่องราว ‘จิตสำนึก’ ของ Pinocchio ที่สะท้อนสิ่งที่มีคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ผลลัพท์ที่เกิดขึ้นจากการปล่อยตัวปล่อยใจให้ไปกับสิ่งยั่วยวนต่างๆ แม้หนังจะไม่ได้เสนอแนะวิธีแก้ไข แต่สอนให้เราระวังตัว อย่าเผลอตกหลุมหลงกลในสิ่งที่เห็นๆกันอยู่ ฟังจิตสำนึกของตนเองบ้าง และจงกล้าที่จะทำในสิ่งถูกต้อง
แนะนำอย่างยิ่งกับเด็กเล็ก นี่เป็นหนังที่สามารถเปลี่ยนชีวิต ทัศนคติของเขาได้เลย, ผู้ใหญ่ก็เช่นกัน คนที่ยังมัวเมา ลุ่มหลง หลงใหล Pinocchio อาจไม่ได้สอนอะไรคุณ แต่รู้ตัวหรือเปล่า หนังมันกำลังหัวเราะเยอะเย้ยคุณอยู่ เด็กอย่าง Pinocchio ยังกลายเป็นคนดีได้ แล้วคุณละโตจนป่านนี้แล้ว ยังเป็นแบบนั้นอยู่อีกเหรอ?