รีวิว Steamboy (2004)
อนิเมชั่นแนว Steampunk ตื่นตระการตาไปกับยุคสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม จัดเต็มด้วย Visual Effect สุดอลังการ แต่เนื้อเรื่องราวกลับเละเทะไม่เป็นชิ้นดี สิบปีโปรดักชั่นที่น่าผิดหวังทีเดียว
ประมาณสักสิบกว่าปีก่อน เพื่อนคนหนึ่งแนะนำ Steamboy (2004) เพราะรับรู้ว่าผมชื่นชอบคลั่งไคล้ Howl’s Moving Castle (2004) อยากให้วิจารณ์เปรียบเทียบกัน … รับชมตอนนั้นก็รู้สึกตื่นตาไปกับความอลังการ แถมมีปราสาทเดินได้เหมือนกันด้วยนะ เลยตอบไปว่าก็โอเค แต่สนุกสู้อนิเมะของ Hayao Miyazaki ไม่ได้เท่าไหร่
บอกตามตรง ผมเพิ่งมารับรู้ไม่นานมานี้ว่า Steamboy คือผลงานของ Katushiro Otomo ผู้สร้างอนิเมชั่น Masterpiece เรื่อง Akira (1988) เลยค่อนข้างคาดหวังพอสมควร แต่รับชมได้เพียง 10 กว่านาที เริ่มออกอาการหงุดหงิด คับข้องใจ อะไรของมันว่ะ! สวยแต่รูปจูบไม่หอม
Steamboy เป็นอนิเมชั่นแนวย้อนยุคที่ต้องการตั้งคำถามถึงโลกปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไรกันแน่? ความสุขสบาย เสมอภาคเท่าเทียม เจริญก้าวหน้าของมนุษยชาติ หรือหวังกอบโกยผลประโยชน์เงินทอง โหยหาอำนาจ เติมเต็มความเพ้อใฝ่ฝัน
ก่อนอื่นขอกล่าวถึง Steampunk คนในวงการเกมน่าจะมักคุ้นเคยกว่าภาพยนตร์ หมวดหมู่แตกแยกย่อยออกจาก Science Fiction มีกลิ่นอายย้อนยุคที่ทันสมัย (Modern Vintage) พบเห็นเรือเหาะ เครื่องจักรไอน้ำ หุ่นยนต์ล้ำอนาคต สิ่งก่อสร้างยิ่งใหญ่อลังการ แต่ตัวละครสวมชุดยุคสมัย Victoria และพื้นหลังศตวรรษที่ 19 (ช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรป)
Steampunk ถือกำเนิดขึ้นช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรป โดยนักเขียนนวนิยายไซไฟชื่อดังอย่าง H. G. Wells, Jules Verne ที่ได้จินตนาการโลกอนาคตโดยมีพื้นฐาน/อ้างอิงจากโลกยุคสมัยนั้น แต่เมื่อกาลเวลาเคลื่อนผ่านไป เทคโนโลยีปรับเปลี่ยนแปลง อะไรๆไม่ได้เป็นไปตามที่คาดคิดไว้ ผลงานของพวกเขาเลยกลายเป็น ‘อนาคตในอดีต’
เกร็ด: อนิเมะเรื่องแรกที่ถือว่าเป็นแนว Steampunk คือ Laputa: Castle in the Sky (1986) ของ Hayao Miy
Katsuhiro Otomo (เกิดปี 1954) นักวาดการ์ตูน กำกับอนิเมะ สัญชาติญี่ปุ่น เกิดที่ Tome, Miyagi ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น ช่วงวัยเด็กชื่นชอบอ่านมังงะ แต่ครอบครัวค่อนข้างจะเข้มงวดกวดขัน เดือนหนึ่งอนุญาตให้ซื้อหนังสือการ์ตูนได้เพียงเล่มเดียวเท่านั้น มีความคลั่งไคล้ Astro Boy และ Tetsujin 28-go เอาเวลาว่างๆไปวาดรูปเลียนแบบ, พอขึ้นมัธยมก็เริ่มให้ความสนใจภาพยนตร์ ใฝ่ฝันอยากเป็นผู้กำกับ เรียนจบมุ่งสู่ Tokyo ได้งานเขียนการ์ตูน แรกเริ่มมีผลงานหลากหลาย ขึ้นอยู่กับใครว่าจ้างอะไรก็ทำ จนกระทั่งมังงะ Dōmu: A Child’s Dream (1980-81) คว้ารางวัล Nihon SF Taisho Award เลยมีโอกาสผันตัวสู่วงการอนิเมะ เริ่มจากออกแบบตัวละคร (Character Design) เรื่อง Harmagedon: Genma taisen (1983), กำกับ Neo Tokyo (1987), Akira (1988), Memories (1995)
Otomo เป็นคนชื่นชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ ตั้งแต่ Akira (1987) แม้มีเพียงฉากเดียวทั้งเรื่องที่ใช้ CGI แต่หลังจากนั้นก็ทดลองโน่นนี่นั่น โดยเฉพาะ Memories (1995) ตอน Canon Fodder ทำการผสมผสานภาพสามมิติจากคอมพิวเตอร์ กับการวาดมือ/ลงสีสองมิติ ผลลัพท์ออกมาแม้ดูพิลึกพิลั่น แต่มีความลื่นไหล แนบเนียน กลมกลืน ย่นระยะเวลาทำงานได้ไม่น้อย
รีวิว Steamboy (2004)
เรื่องราวเริ่มต้น ค.ศ. 1863, เทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง โดยสองนักประดิษฐ์พ่อ-ลูก Lloyd และ Edward Steam ได้ค้นพบน้ำแร่บริสุทธิ์ที่ประเทศไอซ์แลนด์ สามารถนำมาใช้เป็นพลังงานได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
สามปีถัดมา ณ Manchester, ประเทศอังกฤษ เด็กชายหนุ่ม Ray Steam นักประดิษฐ์ที่ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นจากปู่-พ่อ อาศัยอยู่กับแม่และผองเพื่อนพี่น้อง วันหนึ่งมีพัสดุลึกลับจากปู่ส่งมาหา ข้างในมีสิ่งประดิษฐ์ทรงกลม Steam Balls ได้รับการฝากฝังเก็บรักษาจากชายแปลกหน้า ที่อยู่ดีๆปรากฎตัวขึ้นมาและพยายามแก่งแย่งชิงกลับคืนไป แม้เขาจะได้รับการช่วยเหลือโดยจักรวรรดิอังกฤษ British Empire แต่ไม่วายถูกลักพาตัวไปถึงกรุง London
ที่นั่นทำให้ Ray พานพบเจอ Scarlett O’Hara หลานสาวทายาท The O’Hara Foundation มีนิสัยเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ และพ่อของตนเองในสภาพดูไม่ได้สักเท่าไหร่ แต่ต้องการให้เขาพบเห็นสิ่งก่อสร้างสุดมหัศจรรย์ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ระหว่างงาน 1866 London Great Exhibition
ความรู้สึกหลังดู
ความสามารถในด้านการประดิษฐ์ติดตามรอยเท้าพ่อและปู่ แต่ความเยาว์วัยไร้เดียงสาต่อโลก ยังมีอะไรๆต้องเรียนรู้อีกมาก ตกอยู่ในสถานการณ์ต้องเลือกระหว่างอุดมการณ์กับความเป็นจริง ไม่ใช่สิ่งง่ายสักนิดจะตัดสินใจ
Scarlett O’Hara St. Jones (พากย์เสียงโดย Manami Konishi, ฉบับภาษาอังกฤษโดย Kari Wahlgren) ลูกคุณหนูอายุ 14 ปี ได้รับการเลี้ยงดูแลอย่างเอาอกเอาใจ เลยมีนิสัยโคตรเห็นแก่ตัว ไม่สนอะไรทั้งนั้นนอกจากความพึงพอใจของตนเอง เมื่อพานพบเจอ Ray Steam บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าชอบ-ไม่ชอบ แต่เพราะเขาเป็นคนเดียวที่ไม่สนฐานะ หรือคอยเอาอกเอาใจ เลยต้องการอยู่ชิดใกล้เผื่อว่าจะได้เจออะไรตื่นเต้นสนุกสนานเร้าใจ
แม้ว่า Otomo จะมีความสนใจในเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่เขายังคงยึดถือมั่นในวิธีการวาดมือของ Tradition Animation แค่นำเอา CGI เข้ามาช่วยย่นย่อระยะเวลาการทำงาน ซึ่งเรื่องนี้ประมาณกว่า 440+ คัท (25% ของอนิเมะ) น่าจะโดยเฉพาะกรุงลอนดอน และ Steam Tower ที่มีรายละเอียดยิบย่อยปริมาณมากเกินกว่าการวาดด้วยมือจะเสร็จสิ้นในระยะเวลาอันสั้น
ประสบการณ์จาก Canon Fodder ที่ได้สร้างภาพเคลื่อนไหวลวงตาให้กับอนิเมชั่นสองมิติ (ด้วยการผสม CGI สามมิติเข้าไป) พบเห็นบ่อยครั้งในอนิเมะเรื่องนี้ มุมมองบุคคลที่หนึ่งระหว่างปั่นจักรยานล้อเดียว (Monowheel) ตัวละครเดินตรงไปข้างหน้า หรือขณะโบยบินเหินหาว ยุคสมัยนั้นเทคนิคนี้ถือว่าตื่นตระการตา (แต่ปัจจุบันก็พบเห็นได้ทั่วไป)
การลงสีตามสไตล์ของ Steampunk จะเน้นโทนน้ำตาล เพื่อมอบสัมผัสย้อนยุค โบร่ำโบราณ เว้นเสียแต่ Steam Tower ลงขลับดำ ตรงกันข้ามขณะพ่นไอน้ำแข็ง ขาวโพลนไปทั่วกรุงลอนดอนรอบด้าน … ทั้งหมดใช้การลงสีด้วยดิจิตอล ไม่ได้ด้วยมือแล้วนะครับ
สิ่งยากสุดในการทำอนิเมชั่นเรื่องนี้ คือไอน้ำ หมอกควัน โดยเฉพาะช่วงท้ายเมื่อน้ำแข็งแตกละเอียดกลายเป็นเกร็ดอนุภาค (Particle) นี่คงใช้ CGI เข้าช่วยล้วนๆเลยละ วาดมือไม่มีทางออกมาอลังการได้ขนาดนี้!