รีวิว Sphere (1998) สเฟียร์ มหาภัยสะกดโลก
มีการค้นพบยานอวกาศลึกลับฝังตัวอยู่ใต้แนวปะการังในมหาสมุทรแปซิฟิก คาดกันว่ามันคือยานต่างดาวที่ตกลงมาเมื่อ 300 ปีก่อน
ทางการจึงตาม ดร. นอร์แมน กู๊ดแมน (Dustin Hoffman) จิตแพทย์, ดร. อลิซาเบธ ฮาเลพิน (Sharon Stone) นักชีววิทยา, ดร. แฮร์รี่ อดัมส์ (Samuel L. Jackson) นักคณิตศาสตร์ และ ดร. เท็ด ฟิลดิ้ง (Liev Schreiber) นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ มาตั้งขึ้นเป็นทีมเฉพาะกิจเพื่อลงไปค้นหาคำตอบที่ใต้ทะเลลึกว่ายานลำนี้มาจากไหน และมีสิ่งมีชีวิตเรืองปัญญาต่างดาวอยู่ในยานนั้นหรือไม่
จากการสำรวจพบว่ายานนี้อาจไม่ได้มาจากต่างดาวดังที่คาดกันไว้ และยังมีวัตถุทรงกลมสีทองขนาดใหญ่อยู่ในนั้นด้วย พวกเขาเรียกมันว่า สเฟียร์
ไม่มีใครรู้เลยครับว่าสเฟียร์คืออะไร มาจากไหน และมีไว้ทำอะไร… แต่ไม่นานจากนั้นพวกเขาก็ได้ตระหนักถึงพลังของมัน พลังที่มาพร้อมความระทึกที่ไม่มีใครจินตนาการถึง
ปกติผมเป็นคนชอบหนังลงน้ำอยู่แล้วครับ พวกลงไปสำรวจใต้ทะเลลึก เพราะใต้ผืนน้ำมันดูลึกลับนะครับ อาจมีความลับหรือตัวอะไรรอเราอยู่อีกมากมาย เรียกว่าผมแพ้ทางหนังแนวนี้ ถ้าออกมาดีจะชอบมาก หรือแม้ออกมาไม่ดี แต่ถ้ามีการลงน้ำ มีฉากใต้น้ำก็ปลื้มแล้ว 555
ตอนดูรอบแรกผมชอบครับ ชอบประเด็นที่หนังนำมาเล่น (เรื่องใต้น้ำ+ความลึกลับ+ จิตใจของคน) การเล่าเรื่องก็รู้สึกเหมือนได้อ่านหนังสือ มีการทิ้งปมให้ตามทีละนิด เฉลยมันทีละหน่อย พอดูเสร็จก็อยากหานิยายมาอ่านทันทีครับ หนังสร้างจากนิยายขายดีของ Michael Crichton ที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1987 เคยได้รับการแปลไทยแล้วเช่นกันชื่อไทยก็ทับศัพท์ไปเลยว่า สเฟียร์ แปลโดย คุณกำจาย ตะเวทิพงศ์ โดยมี คุณอาสุวิทย์ ขาวปลอด มาช่วยเกลาอีกที
พออ่านนิยายก็รู้สึกครับว่านิยายสนุกกว่า เข้มข้นกว่ามาก อ่านแล้วให้อารมณ์เหมือนลงไปอยู่ใต้ทะเลจริงๆ หันซ้ายหันขวาเหมือนเราไปอยู่ในฐานใต้น้ำจริงๆ และกดดันเอาเรื่องครับ สนุกจนวางไม่ลง ทว่าต้องทำใจกับศัพท์แสงทางการนิดหน่อยนะครับ เอาเป็นว่าถ้าเจอนิยายเรื่องนี้ที่ไหนก็คว้าไว้อ่านได้เลยครับ
ส่วนตัวหนังนั้นก็อย่างที่บอกครับ ผมชอบประเด็นต่างๆ และปมทั้งหลาย อีกทั้งการเล่าเรื่องก็น่าสนใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็มีพื้นฐานที่แข็งแรงมาตั้งแต่นิยายแล้วครับ อะไรที่เด็ดๆ ที่น่าสนใจก็มาจากนิยายเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ตัวหนังดูโอเคในระดับหนึ่งครับ แต่การเดินเรื่องยังช้าไปหน่อย บางช่วงเลยอาจทำให้รู้สึกอืด และความตื่นเต้นก็ยังไม่เยอะ ช่วงที่จัดว่าลุ้นสุดๆ ต้องยกให้ “ตัวอะไรสักอย่างในโซน่าร์” ท๊่พุ่งเข้ามาหา นอร์แมนและอลิซาเบธ นอกนั้นก็อยู่ในระดับโอเคครับ เพียงแต่ยังลุ้นได้อีก และตื่นเต้นได้อีก
แต่เท่าที่เป็นนี่ก็โอเคในระดับหนึ่งล่ะครับ เพียงแต่ต้องทำใจรับก่อนว่านี่ไม่ใช่หนังประเภทเน้นสยอง เน้นเลือด หรือเน้นสัตว์ประหลาด ทว่ามันจะเล่นกับความกดดัน การวิเคราะห์ตามปมปริศนาว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ และเน้นความกลัวที่มองไม่เห็น (แต่สัมผัสได้) อีกทั้งหนังยังเต็มไปด้วยบทสนทนา ดังนั้นถ้าใครไม่ถูกเส่้นกับหนังที่เน้นพูดเน้นคุยก็อาจต้องทำใจสักหน่อยครับ
ยังดีที่หนังมีพลังดาราช่วยไว้พอสมควร ทั้ง Hoffman, Stone, Jackson และ Schreiber นอกจากนี้ยังมี Peter Coyote ในบทฮาร์โรลด์ บาร์นส์ ผู้ควบคุมภารกิจนี้ และ Queen Latifah ในบท อลิซ เฟลทเชอร์ หนึ่งในทีมดูแลฐานใต้น้ำที่ต้องเจอกับเรื่องสยองสุดจินตนาการ
รีวิว Sphere (1998) สเฟียร์ มหาภัยสะกดโลก
ดนตรีก็ดีครับ ฝีมือโดย Elliot Goldenthal ที่ช่วยเติมกระหน่ำความลุ้นได้พอตัว ยิ่งตอนใช้เครื่องเป่าเครื่องตีมาซัดอารมณ์นี่ขอชมเลยครับ
ถือเป็นหนังที่ไม่เลวแต่ก็ยังดีไม่สุด อันนี้ก็เห็นใจทีมงานเหมือนกันครับ เพราะแม้แต่ Hoffman เองยังเคยออกมาบอกว่ามันยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่เขาและทีมงานอย่างถ่ายทอดบอกเล่า แต่จนแล้วจนรอดก็ทำกันไม่ทันเพราะกำหนดเวลาฉายได้ถูกกำหนดไปแล้ว Hoffman จึงมักออกมายอมรับว่าผลงานเรื่องนี้ยังไม่สมบูรณ์แบบที่เขาและทีมงานต้องการ ซึ่งแน่นอนครับว่าหมายรวมถึง Barry Levinson ผู้กำกับที่ยังรู้สึกว่าหนังยังออกมาดีไม่เต็มที่เช่นกัน
แต่สิ่งที่ผมชอบมากๆ คือจินตนาการครับ พล็อตเรื่องมันมีจินตนาการดี (แน่นอนว่าคงต้องชม Crichton เพราะเป็นคนคิดเรื่องน่ะครับ) โดยเฉพาะการหักมุมเกี่ยวกับยานอวกาศ การตั้งข้อสังเกตเรื่องต่างๆ ของเหล่านักวิทยาศาสตร์ หรือตรรกะที่แฮร์รี่คิดว่า “พวกเขาจะไม่ได้กลับขึ้นไปอีก” อะไรพวกนี้มันกระตุ้นสมองกระตุกความคิดดีครับ
ไหนจะเรื่องพลังของสเฟียร์ที่ถือว่าเข้าท่ามากครับ ทั้งในแง่การสร้างความตื่นเต้นระทึกและในแง่สาระชวนคิดที่วิพากษ์มนุษย์ เอาล่ะครับ เห็นทีจะต้องสปอยล์เป็นแน่ หากไม่อยากทราบกรุณาอย่าอ่านตรงที่มีตัวอักษรสีน้ำเงินนี้นะครับ ข้ามไปอ่านตัวหนังสือปกติเลยนะครับ
ความรู้สึกหลังดู
ผมชอบพลังของสเฟียร์มากครับ ยอมรับว่าตอนดูนั้นแม้จะรู้สึกว่าหนังยังพร่องในหลายจุด แต่พอได้รู้ว่าสเฟียร์มันมีอำนาจอะไร และมันก่อให้เกิดผลอะไรบ้างนี่ก็ทึ่งครับ คิดได้ล้ำมากๆ ตอนอ่านนิยายนั้นสถานการณ์ที่เราเห็นในหนังน่ะมันจะทวีคูณความมันส์และความลุุ้นเป็นสองเท่าในนิยายครับ อย่างตอนตัวประหลาดในโซน่าร์โผล่มา หรือตอนแต่ละตัวละครไปเดินนอกฐาน (เดินใต้ทะเลลึกน่ะครับ) ตัวอักษรมันถ่ายทอดออกมาได้ชวนผวามากภาพที่เห็นในหนังจริงๆ
แต่อย่างน้อยในหนังก็ถ่ายภาพฉากใต้น้ำพวกนี้ได้ไม่เลวครับ เพียงแต่มันไม่ได้อลังการเท่าที่ในนิยายบรรยายไว้ แต่อันนี้ก็โทษหนังมากไม่ได้ เนื่องจากจินตนาการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทีมงานอาจจินตนาการประมาณนั้น หรืองบจำกัดได้แค่นั้น แต่เรานั่งอ่านคนเดียวไม่ต้องลงทุน มันก็ย่อมจินตนาการได้ไกลกว่า
เรื่องต่อมาที่ชอบคือการวิพากษ์มนุษย์ครับ หากใครดูแล้วย่อมทราบว่าสเฟียร์มีพลังคือทำให้จินตนาการของใครก็ตามที่ได้เข้าไปสัมผัสมันถึงข้างใน เป็นจริงได้ เช่น เมื่อแฮร์รี่คิดถึงปลาหมึกยักษ์ ปลาหมึกยักษ์ก็พุ่งมาอาละวาดที่ฐาน หรือพอนอร์แมนคิดถึงแมงกะพรุน ก็มีตัวแมงกะพรุนพันธุ์สยองโผล่ออกมาทำร้ายคน
ในตอนท้ายพอทุกคนที่เหลือรอดตระหนักว่าสเฟียร์ทำอะไรได้ พวกเขาก็มานั่งคุยกัน สรุปใจความได้ว่ามนุษย์ยังไม่พร้อมสำหรับพลังอันนี้ เพราะหลายครั้งที่มนุษย์ขับดันด้วยความกลัว คิดลบก่อนคิดบวก คิดร้ายก่อนคิดดี หรือไม่ก็พร้อมจะแก้แค้นเอาคืนกัน หวาดระแวงกัน ซึ่งหากพลังนี้ไปตกอยู่ในมือคนผิด มันย่อมเกิดความเสียหายอันมหาศาล
แล้วนอร์แมนก็พูดสรุปขึ้นว่า “เรานี่แหละ มือคนผิด” แม้พวกเขาจะจบปริญญาเอก แม้จะได้รับคำยกย่องในสายวิชาชีพ มีความรู้มากมายควบคุมหลายสิ่งได้ แต่กลับไม่สามารถควบคุมความคิด ไม่สามารถใช้สติไตร่ตรองก่อนจะทำอะไรลงไปได้
ประเด็นเหล่านี้ในสเฟียร์ชวนให้คิดครับ จริงที่ความกลัวคือกลไกป้องกันตัวชนิดหนึ่งของมนุษย์ เพื่อกันไม่ให้เราเดินไปในทางอันตราย แต่หลายครั้งที่ความกลัวเข้าครอบงำเราแทนที่จะเป็นสติกุมบังเหียนชีวิต ส่วนหนึ่งอาจเพราะเราไม่ได้มีการฝึกขัดเกลาความกลัว ถ้าเปรียบคนเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ก็เหมือนเราไม่ได้อัพเดตซอฟท์แวร์เลย ค่อยๆ ให้ความกลัวหรืออารมณ์กลายเป็นนายบงการชีวิตเราไป
จริงๆ แล้วหากเราลองเปลี่ยนกลไกป้องกันตัว “เวอร์ชั่นความกลัว” ให้กลายเป็นกลไกป้องกันตัว “เวอร์ชั่นสติที่มีความระมัดระวังนำทาง” เราก็อาจสามารถรับมือกับสิ่งต่างๆ ได้ดีกว่า หรืออย่างน้อยก็ไม่กลัวลนลานจนเราทุกข์ล่วงหน้ามากจนเกินไป
การที่เหตุไปเกิดในน้ำก็เหมือนเป็นการเปรียบเปรยอย่างหนึ่งครับ ว่าวิทยาศาสตร์พยายามนำพาคนไปนอกโลก สำรวจดวงจันทร์ ดาวอังคาร ฯลฯ ทุ่มงบมหาศาลเพื่อสิ่งนั้น แต่ทว่าหลายสิ่งในโลกของเราก็ยังไม่ได้รับการสำรวจ บางสิ่งคลุมเครือ บางสิ่งต้องการการพิสูจน์ เช่นโลกใต้มหาสมุทรที่ยังมีความลับอีกมากให้รอการค้นพบ…
เหมือนมนุษย์ครับ ที่หมั่นเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวมากมาย แต่สิ่งที่อยู่ในใจกลับไม่ค่อยได้ศึกษา ความลับของจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก กลับดูจะเป็นสิ่งแปลกหน้าสำหรับเรา ทั้งที่มันอยู่คู่เรามาตั้งแต่เกิดแท้ๆ
ในเรื่องเหล่านักวิทยาศาสตร์ระดับด็อกเตอร์ทั้งหลายเลยพูดไม่ออก เมื่อความรู้มากมายที่เขามีกลับไม่สามารถระงับเหตุร้ายที่เกิดขึ้นได้… ทั้งที่การระงับทำได้ด้วยการบริหารจัดการจิตใจของเขาเอง
ประเด็นเหล่านี้น่าสนใจครับ ทำให้หนังมันมีอะไรมากขึ้น ซึ่งผมก็พอเข้าใจแล้วว่าทำไม Levinson ถึงสนใจทำหนังเรื่องนี้
โดยรวมแล้ว Sphere ก็เป็นหนังลงน้ำที่ทำได้ไม่เลวครับ ประเด็นดีๆ มีเยอะ เพียงแต่จังหวะการเดินเรื่องอาจช้าไป และหนังอาจเต็มไปด้วยบทสนทนา แต่อย่าคาดหวังพวกฉากใต้น้ำให้มากนะครับ ไม่มีเรื่องไหนเนรมิตได้เด็ดเทา The Abyss อีกแล้ว
ตัวหนังไม่ประสบความสำเร็จนักครับ ลงทุนไป 80 ล้านได้คืนมา 37 ล้านในตลาดอเมริกา ซึ่งจริงๆ ตอนนั้นมีการกล่าวกันว่าหลายคนเก็งกันว่า Titanic ทีเป็นหนังน้ำเหมือนกันแต่ลงทุนไป 200 ล้านน่ะน่าจะกลายเป็นหนังล่ม ส่วน Sphere น่าจะประสบความสำเร็จมากกว่า… แต่ผลที่ออกมากลับตรงกันข้าม!
ส่วนหนึ่งที่ฉากใต้น้ำไม่อลังการนักก็เพราะทาง Warner Bros พยายามหั่นงบ ไม่อยากไปถ่ายในทะเลจริงๆ เพราะกลัวจะมีอนาคตลงเอยเหมือน Waterworld จึงมีการสร้างแท้งค์ขึ้นมาเพื่อสร้างเป็นฉากใต้น้ำแทน
สงสัยเหมือนกันว่าถ้าทีมงานได้ทำเต็มทุนเต็มที่และให้เวลาถ่ายทำมากกว่านี้ ผลจะออกมาเป็นยังไง