รีวิว Everything Everywhere All at Once
เรื่องย่อ: เอเวอลีน หวัง (มิเชล โหย่ว Michelle Yeoh) หญิงชาวจีนที่ต้องแบกรับภาระทุกอย่างภายในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจร้านซักแห้งที่ขาดทุนมานานหลายปี ชีวิตคู่กับสามี (คี ฮุย ควน Ke Huy Quan) ที่แสนจืดชืด ความสัมพันธ์กับลูกสาว (สเตฟานี่ ซู Stephanie Hsu) ที่ไม่ค่อยจะลงรอยกัน การถูกกดดันจากผู้เป็นพ่อ (เจมส์ ฮ่อง James Hong) รวมถึงสรรพากรสุดโหด (เจมี ลี เคอร์ติส Jamie Lee Curtis) ที่มาตามเก็บภาษีและขู่จะยึดร้าน
กระทั่งวันหนึ่งเอเวอลีนได้ค้นพบตัวตนที่อยู่ในหลากหลายชีวิต ณ พหุจักรวาล โดยแต่ละตัวตนต่างมีเป้าหมายในชีวิตแตกต่างกัน มีเส้นทางชีวิตที่เป็นทั้งคนดีและคนชั่ว และยังมีพลังที่เหนือกว่ามนุษย์ธรรมดาทั่วไป แต่เมื่อการมาอยู่ในโลกประหลาดนี้ได้ปรากฏศัตรูลึกลับที่หมายจะกำจัดตัวเธอในจักรภพอื่น ๆ ให้สิ้นซาก จนในที่สุด เอเวอลีนต้องยอมเผชิญหน้ากับสงครามครั้งยิ่งใหญ่ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายแท้จริง นั่นก็คือ การเป็นที่สุดแห่งซือเจ๊มหาประลัยที่มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น
โหด
แม้หนังจะมีฉากโหดที่เหมือนหลุดมาจากหนังสยองขวัญ และเรารู้สึกกดดันน่ากลัว คาดเดาการกระทำของตัวร้ายไม่ได้อยู่หลายฉาก ทั้งจับคนหักคอ หรือวิธีฆ่าสุดพิศดาร แต่ความโหดแท้จริงของหนังเรื่องนี้คือวิธีการสร้าง
ผู้กำกับแดเนียลส์ (Daniels) ซึ่งเป็นนามแฝงร่วมของผู้กำกับ แดเนียล กวัน (Daniel Kwan) และ แดเนียล ไซ เนิร์ท (Daniel Scheinert) เพิ่งมีผลงานสุดแปลกประหลาดร่วมกันจากเรื่อง ‘Swiss Army Man’ (2016) ที่แสดงนำโดย แดเนียล แรดคลิฟฟ์ (Daniel Radcliffe) และ พอล ดาโน (Paul Dano) ที่ว่าด้วยการผจญภัยร่วมกันของคนกับศพ ซึ่งคงไปเตะตาสองผู้อำนวยการสร้างคนดังอย่างพี่น้องรุสโซ (Russo Brothers) ที่หลังเสร็จภารกิจ Avengers: Endgame (2019) ก็หันมาเป็นป๋าดันให้หนังหลายต่อหลายเรื่องเช่น ‘Extraction’ (2020) ของผู้กำกับ แซม ฮาเกรฟ (Sam Hargrave) เป็นต้น
ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญหรือมีความจงใจเล็ก ๆ ที่ ‘Everything Everywhere All at Once’ ก็มีพล็อตที่เล่นกับมัลติเวิร์สเช่นเดียวกับหนังมาร์เวลเฟสล่าสุด โดยเฉพาะปีการฉายที่มาใกล้กันทั้ง ‘Spider-Man: No Way Home’ และ ‘Doctor Strange in the Multiverse of Madness’ ที่ก็เล่นกับเรื่องมัลติเวิร์ส ยังไม่นับว่าสาระของหนังยังพูดถึงประเด็นความสัมพันธ์แบบครอบครัวเอเชียที่ไปใกล้เคียง ‘Shang-Chi and The Legend of The Ten Rings’ เข้าไปอีก ซึ่งโชคดีเท่าไหร่แล้วที่อควาฟิน่า (Awkwafina) ที่เดิมทีถูกทาบทามให้เล่นเป็นลูกสาวของมิเชล โหย่วไม่ได้มาเล่นด้วย
และอาจรวมถึงวิธีการแสดงเปลี่ยนบุคลิกของ คี ฮุย ควน นักแสดงที่เคยรับบทดังในตอนเด็กในหนัง ‘Indiana Jones and the Temple of Doom’ (1984) ที่เรื่องนี้มารับบทสามีจอมเปิ่นของมิเชล ซึ่งจะถูกตัวตนในอีกมิติที่เก่งกาจคอยมาสิงร่าง ที่ชวนนึกถึงการแสดงขั้นเทพแบบไม่น้อยหน้ากันของ ออสการ์ ไอแซ็ก (Oscar Isaac) ในซีรีส์ ‘Moon Knight’ ไปอีก จนเริ่มสงสัยว่าทีมสร้างแอบไปดูว่ามาร์เวลจะปล่อยอะไรฉายปีนี้มาก่อนแล้วหรือเปล่า (ฮา)
และถ้าคำนึงว่าผู้สร้างยังจงใจเลือก แรนดี้ นิวแมน (Randy Newman) ที่เคยทำเพลงให้กับหนังดังของพิกซาร์มาหลายเรื่อง มาพากย์เสียงตัวละครลับเพื่อล้อเลียนหนังพิกซาร์เรื่องหนึ่งด้วย ก็อาจเรียกได้ว่านี่อาจเป็นพาโรดี้หนังฮิตของดิสนีย์แบบขนานใหญ่ทีเดียว ยิ่งถ้าคุณดูหมอแปลกมาก่อนด้วย ก็จะยิ่งรู้สึกว่ามันมีหลายอย่างที่เหมือนบังเอิญจะแซวหนังมาร์เวลอยู่ในที
นอกจากทีมสร้างและนักแสดงที่โหดเหมือนโกรธดิสนีย์พอควรแล้ว (แต่จริงๆ แค่ระดับแซวล่ะ) การทำหนังเรื่องนี้ก็ยังโหดขิงขึ้นไปอีก เมื่อผู้กำกับแดเนียลส์โชว์ความคิดสร้างสรรค์ถ่ายหนังไซไฟแอ็กชันโดยเน้นจบหน้ากล้อง (ถ้าทำได้) เช่นฉากที่มิเชลพุุ่งทะลุมิติที่ใช้วิธีลดเฟรมเรตของกล้องแล้วให้มิเชลแสดงท่าทางช้าลง จากนั้นค่อยเอามาเล่นด้วยความเร็วปกติจนเกิดภาพแบบพิเศษ การถ่ายหนังแบบไฮสปีดเพื่อเพิ่มทางเลือกให้คนตัดต่อได้ใช้ภาพสโลว์โมชันในฉากที่ต้องการ
หรือถึงแม้จะต้องใช้ซีจีเข้าช่วยแต่ทีมแดเนียลส์ก็โชว์เหนือด้วยการใช้ทีมเทคนิคพิเศษแค่ 9 คนรวมตัวผู้กำกับ 2 คนเข้าไปด้วยเพื่อทำซีจีหนังทั้งเรื่อง และที่ขิงสตูดิโอใหญ่เบา ๆ คือทีมงานเทคนิคพิเศษทุกคนลองฝึกทำกันเองผ่านยูทูบและไม่มีใครเคยเรียนด้านนี้มาก่อนเลย
รีวิว Everything Everywhere All at Once
และถ้าเอาให้สุดคือหนังเรื่องนี้ไม่ได้เบาสมองอย่างที่คิด แต่ซ่อนสัญญะไว้เยอะมาก เช่นวงกลมดำสลับขาวที่วางเอาไว้แทบทั้งเรื่องอย่างลูกตากลิ้งได้ใช้ติดของเล่น คำพูดตัวละครที่เป็นอีสเตอร์เอ้กจากหนังดังหลายเรื่องทั้ง ‘Indiana Jones’ ‘Die Hard’ หรือแม้แต่ ‘In The Mood For Love’ รวมถึงบทเพลงอย่าง “Absolutely (Story of a Girl)” ของศิลปินวง Nine Days ที่แทบเป็นธีมของเรื่อง ตลอดถึงการอุปมาอุปมัยเรื่องของนิพพาน ปรมาตมัน สุดแต่ใครจะตีความได้ไประดับไหน แต่บอกเลยว่าดูเอาสนุกก็ได้ เอาสาระวิเคราะห์เข้ม ๆ ก็มัน
ดังนั้นในความโหดของหนังเรื่องนี้ต้องบอกว่ามีอะไรให้คนที่สนใจงานเบื้องหลังของหนังได้ศึกษาไม่น้อยเลย และตอกย้ำอีกครั้งว่าในแขนงนี้ที่สุดแล้วความคิดสร้างสรรค์นั้นจะชนะเลิศ
มัน-ฮา
ความมันของหนังเรื่องนี้มาพร้อมกับความฮา เพราะความมันในที่นี้อาจไม่ได้หมายถึงแค่การมีฉากต่อสู้เร้าใจ แต่เป็นความมันในอารมณ์เสียมากกว่า หนังสามารถดึงความร่วมสมัยจากหนังดังหลาย ๆ เรื่องเอามาผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างสนุกมือ การแบ่งส่วนของหนังเป็น 3 ตอน เรียงตั้งแต่ Everything, Everywhere และจบด้วย All at Once มันไม่ได้เพียงล้อกับชื่อเรื่อง แต่ยังบอกด้วยว่านี่คือการรวมหนังแทบทุกแบบมายำได้ว้าวซ่ามาก ๆ เรียกว่าทุกอารมณ์ ทุกการนำเสนอมีครบ จบในเรื่องเดียว จะแมส จะอินดี้ จะไซไฟ แอ็กชัน ดราม่า คอมเมดี้ ปรัชญา ก้าวพ้นวัย ฯลฯ พี่แกมีหมด
คุณนึกภาพไม่ออกแน่ว่าหนังอย่างพิกซาร์ หนังเฉินหลง หนังหว่องกาไว เฉินข่ายเกอ ชอว์บราเธอร์ หนังของสแตนลีย์ คูบริก หรือพี่น้องวาชอว์สกีส์ และอีกหลายแขนงมันถูกคารวะเชิดชู ล้อเลียน อยู่ในเรื่องนี้เรื่องเดียวได้โคตรสนุกขนาดไหนด้วยพลังของมัลติเวิร์สที่เบิกทางให้ผู้สร้างทำอะไรได้หลากหลาย
ความรู้สึกหลังดู
ใครที่รักการดูหนังอยู่แล้ว ยิ่งมาดูการยกจอกน้ำชาบูชาครูของสองผู้กำกับแดเนียลส์ในเรื่องนี้ มันจะยิ่งฟิน ยิ่งฮา คูณสองคูณสามเข้าไปอีก
น้ำตาไหล
ที่ต้องปรบมือปนประหลาดใจคือ ไม่คิดว่าจะโดนหนังเรื่องนี้พรากน้ำตาออกมาจากเบ้าได้ และไม่ใช่จากความตลกหรือความฟินจากการนำเสนอความสร้างสรรค์ในงานสร้างด้วย แต่เป็นส่วนของดราม่าที่เหมือนจะธรรมดา เนื้อหาไม่ได้แปลกใหม่ไปกว่าที่เคยดูในหนังวิพากษ์ครอบครัวเอเชียเรื่องอื่น ๆ เลยอย่างเช่น ‘Crazy Rich Asians’ (2018) แต่การที่หนังเรื่องนี้ให้พื้นที่ความเป็นผู้หญิงที่ถูกกดดันจากทุกสถานะในครอบครัวทั้ง ความเป็นลูกสาว ความเป็นภรรยา และความเป็นแม่คน
มันทำให้นึกถึงประโยคหนึ่งในละครไทยอย่าง ‘เมีย 2018’ ที่ว่า “หลังจากที่แต่งงาน โลกของฉันก็เปลี่ยนไปหมดเลย เปลี่ยนไปตามโลกของสามี มันกลายเป็นโลกของเขา พอมีลูก โลกของฉันก็กลายเป็นโลกของลูก นอกจากการเป็นเมียและแม่ ไม่มีตรงไหนเลยที่ฉันจะมีที่เป็นของตัวเอง” แต่ในเรื่องนี้ยังขับเน้นไปต่อว่าผลกระทบนั้นมันก็ส่งกลับไปยังคนรอบตัวอย่างสามี หรือลูกเองจนกลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์ด้วย
หนังเรื่องนี้แม้จะมีการนำเสนอที่บางทีก็ออกปรัชญาจนเข้าใจยาก แต่มันก็มีหลายฉากที่ช่วยให้เราเข้าใจหัวอกตัวละครได้มาก อย่างฉากที่ได้เห็นการตอบสนองต่อทางเลือกในอีกโลกหากตัวเอกไม่ได้แต่งงาน มันค่อย ๆ เก็บรายละเอียดทางอารมณ์ความคิดมาจนระเบิดออกในฉากสุดท้ายที่มันต้องเคลียร์ใจ ซึ่งต้องชื่นชมการแสดงระดับครูของนักแสดงรุ่นเก๋าอย่าง มิเชล โหย่วด้วย เพราะมันก็สร้างความตราตรึงใจได้อย่างชื่นมื่นน้ำตาซึมในความรักของคนเป็นแม่ และความรักของคนในครอบครัว ที่ไม่ว่าจะจักรวาลไหนมันก็จะไม่เปลี่ยนแปลง
บทสรุปอาจไม่เกินคาดเดาแต่การเล่าพาคนดูมาถึงจุดนี้ได้ ไม่ร้องไห้ซึ้งใจ ไม่ได้จริง ๆ นี่เป็นหนังที่ดีที่สุด 1 ใน 5 อันดับสำหรับรางวัลขวัญใจคนรักหนังของปีนี้เลยก็ได้
ชื่อภาพยนตร์ Everything Everywhere All at Once / ซือเจ๊ทะลุมัลติเวิร์ส
กำกับ Dan Kwan, Daniel Scheinert
เขียนบท Dan Kwan, Daniel Scheinert
แสดงนำ Michelle Yeoh, Stephanie Hsu, Ke Huy Quan, James Hong, Jamie Lee Curtis, Tallie Medel
แนว/ประเภท Action, Adventure, Comedy, Fantasy, Sci-Fi
เรท R
ความยาว 139 นาที
ปี 2022
สัญชาติ สหรัฐอเมริกา
เข้าฉายในไทย 12 พฤษภาคม 2022
ผลิต/จัดจำหน่าย AGBO, Hotdog Hands, Ley Line Entertainment, Year of The Rat, A24, M Pictures