รีวิว Code 8 (2019) ล่าคนโคตรพลัง
บางทีการให้ข้อมูลที่มากเกินไปทำให้ไม่เหลือสิ่งที่อยากรู้ เพราะฉากเปิดเรื่องได้เล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด ตั้งแต่การเกิดมนุษย์กลายพันธุ์มีพลังพิเศษ การใช้พลังผสานเข้ากับอาชีพทำกิน การควบคุมพลังพิเศษด้วยใบอนุญาต ยุคสมัยของเครื่องจักรทำงานแทนคน และอื่นๆที่ตรงกับความเป็นจริง แค่เปลี่ยนจากคนมีทักษะมาเป็นคนมีพลังพิเศษ
ความหนักแน่นของการอธิบายในฉากเปิดเรื่องน่าเชื่อถือและมีเหตุผล ทำให้เริ่มเรื่องได้น่าสนใจและอยากเห็นสิ่งที่เกริ่นเอาไว้จะสะท้อนสังคมได้แค่ไหน แต่กลายเป็นว่าบทนำที่ว่าไว้ซะดิบดีมีเพียงนิดเดียวจากที่เล่ามาทั้งหมด ไม่ได้ขยายหรือเพิ่มเติมในมุมมองอื่น รู้แค่เป็นสังคมที่เข้มงวดจนส่งผลกระทบกับคนที่มีพลัง เนื่องจากไม่สามารถทำงานได้อย่างอิสระ
คนมีพลังพิเศษต้องทำใบอนุญาต ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์คือภาครัฐ ถ้ามองในแง่ดีคือการควบคุมคนมีพลังพิเศษให้ใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น ประเด็นคือจะเก็บเป็นความลับได้ดีแค่ไหน ไม่มีคนเห็นก็รอดตัวไป หากมีใครเห็นหรือเจ้าหน้าที่ไปเจอเข้าเท่ากับต้องมีมลทินติดตัว ทั้งที่เป็นสิ่งที่ได้มาตั้งแต่เกิด ฉะนั้นในช่วงแรกจะรู้สึกไม่ยุติธรรม แม้พลังที่ใช้อยู่นั้นไม่ได้ทำร้ายใครและเป็นประโยชน์ที่ดีมากเสียด้วยซ้ำ
เช่นเดียวกับ คอนเนอร์ รีด (Robbie Amell) ที่ใช้พลังของเขาหารายได้จากงานที่สุจริต แม้จะไม่มีใบอนุญาตเลยก็ตาม ทว่ากฎระเบียบที่เข้มงวดเกินไปจึงไม่สามารถเปิดช่องทำกินที่กว้างขวางได้ อีกทั้ง เมรี่ รีด (Kari Matchett) แม่ของเขาต้องประสบโรคร้ายจากพลังที่ค่อยๆทำร้ายร่างกายทั้งที่ไม่ควร ดังนั้นเพื่อหาค่ารักษาจึงต้องร่วมมือกับ การ์เร็ต (Stephen Amell) ใช้พลังปล้นหาเงินมาช่วยแม่โดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองต้องเข้าไปเกี่ยวพันกับธุรกิจผิดกฎหมาย
องค์ประกอบมีให้ใช้ครบครัน โดยเฉพาะการจัดการคนมีพลังพิเศษที่ควบคุมด้วยกฎหมายอย่างเข้มงวด อีกทั้งยังมีวิธีจัดการคนใช้พลังเก่งๆด้วยหุ่นยนต์ที่มาทำหน้าที่แทนตำรวจ ทำให้ดูสมกับยุคสมัยที่เครื่องจักรเข้ามาแทนที่เกือบหมด เพราะอย่างที่เกริ่นในต้นเรื่องจะพูดถึงการว่างงาน คนธรรมดาหรือคนมีพลังพิเศษล้วนไม่สามารถมีประสิทธิภาพหรือทำงานได้เท่าเครื่องจักรที่มั่นคงมากกว่า
แรงจูงใจหรือปัญหาสังคมให้ก่ออาชญากรรมมีความสมเหตุสมผล อย่างเรื่องยาเสพติดที่สร้างมาจากน้ำในไขกระดูกสันหลังที่สกัดจากคนมีพลังพิเศษ ซึ่งเป็นคำถามที่ว่าคนเหล่านี้ถูกจับมาเพราะถูกบังคับหรือสังคมบีบให้พวกเขาเลือกเอง หนังวางปมเกี่ยวกับสังคมค่อนข้างมากจนรู้สึกใช้ได้ไม่หมด สิ่งที่วางไว้ค่อนข้างใหญ่โต ผิดกับการเล่าเรื่องที่มีความปุถุชนมากไปหน่อย
พลังของแต่ละคนที่เห็นๆไม่ถึงกับหลากหลายหรือทำให้ร้องว้าว หลักๆคือพลังจิตควบคุมสิ่งของที่เห็นได้จากหลายตัวละคร ต่อมาเป็นควบคุมธาตุต่างๆ เช่น น้ำ ไฟ ไฟฟ้า และพื้นๆอย่างปลอมตัวเปลี่ยนแปลงเป็นใครก็ได้ พละกำลังมหาศาล รักษาบาดแผล ซึ่งพลังพิเศษเหล่านี้พบเห็นได้บ่อยตามหนังหรือการ์ตูนแนวซูเปอร์ฮีโร่ แค่ปรับให้มีความใกล้เคียงกับความจริงหรือปุถุชนจนเป็นเรื่องปกติ
รีวิว Code 8 (2019) ล่าคนโคตรพลัง
หนังมีองค์ประกอบครบ แต่อาจรู้สึกไม่สุดในแง่แอ็คชั่นเพราะไม่ได้โชว์พลังกันเท่าไรนัก ส่วนใหญ่ใช้พลังระดับพื้นๆ จะดูเก่งและโชว์ของมากที่สุดคงมีเพียงพระเอกที่ใช้พลังไฟฟ้าที่ได้รับฝึกปรือการควบคุมพลัง แล้วเป็นคนเดียวที่ใช้พลังได้เกิดประโยชน์ที่สุด
ขณะที่คนอื่นแทบไม่ได้ใช้เป็นจริงเป็นจัง ฉะนั้นไม่ให้คาดหวังเกี่ยวกับพลังพิเศษที่ต้องมาแนวเดียวกับหนังซูเปอร์ฮีโร่หรือมีฉากต่อสู้มันส์ ขอให้เน้นเนื้อเรื่องจะดีกว่า
เมื่อมนุษย์ผู้มีพลังพิเศษถูกปฏิบัติเหมือนพลเมืองชั้น 2 ผู้คนต่างตกงานเพราะไม่มีใครกล้าจ้างอันเป็นผลมาจากความกลัวในพลังของพวกเขา และมันทำให้ คอนเนอร์ รีด (ร็อบบี เอเมล) หนุ่มพลังไฟฟ้าต้องเผชิญกับภาวะหลังชนฝา เมื่อแม่ (คารี แมตเชต)
ต้องเผชิญโรคมะเร็งสมองที่ทำให้เธอควบคุมพลังแช่แข็งตัวเองไม่ได้ ในเมื่องานสุจริตหายากยิ่งกว่าทอง คอนเนอร์ จึงหันหลังให้กฎหมายร่วมงานอาชญากรรมทุกรูปแบบกับ แกร์เรต (สตีเฟน เอเมล)หนุ่มสายแบดพลังเคลื่อนย้ายโลหะ
เพื่อทำงานสำคัญให้กับ มาร์คัส ซัดคลิฟ (เกรก บรีค) พ่อค้ายาไซซ์ ยาเสพย์ติดจากไขสันหลังมนุษย์พลังพิเศษที่กำลังระบาดอย่างหนัก จนเจ้าหน้าที่ปาร์ค (ซุง คัง) หน่วย ปปส.ตงฉินต้องออกกวาดล้างอย่างหนักแต่เมื่อหน่วยงานเร่งทำผลงานจนคุณธรรมในอาชีพเริ่มหมิ่นเหม่ ชะตากรรมของคอนเนอร์และอาการป่วยของแม่เลยต้องให้โชคชะตาตัดสิน !
เดิมที CODE 8 คือหนังสั้นไซไฟแอ็กชันของ เจฟฟ์ ชาน ในปี 2016 ที่ได้ดาราชื่อดังอย่างพี่น้องสายพระเอกซีรีส์ทั้ง สตีเฟน เอเมล จาก Arrow และ รอบบี เอเมล จาก The X-Files แถมยังพ่วงดาราเอเซียเบอร์ใหญ่อย่าง ซุง คัง หรือ ฮาน
จากหนังตระกูล Fast and Furious โดยเล่าถึงโลกสมมติที่ผู้มีพลังพิเศษถูกเลือกปฏิบัติจนหนึ่งในพวกเขาต่อสู้กับความอยุติธรรมด้วยพลังของตัวเอง ซึ่งบทคอนเนอร์ตัวเอกจากหนังสั้นก็ยังได้ รอบบี เอเมล กลับมารับบทเดิมในหนังยาวพ่วงพี่ชายอย่าง สตีเฟน เอเมล ที่ได้มารับบท แกร์เรต ตัวละครใหม่ที่เพิ่มเข้ามา
โดยได้ ซุง คัง กลับมารับบทตำรวจที่คราวนี้เพิ่มรายละเอียดเป็น ปปส. อัปเกรดจากหนังสั้นที่เป็นเพียงตำรวจลาดตระเวนธรรมดา พร้อมความยาวที่เพิ่มจาก 10 นาทีเป็น 98 นาที ซึ่งต้องยอมรับว่าแม้ไอเดียจากหนังสั้นจะเวิร์กอยู่แล้วและการเพิ่มเรื่องราวของโลกอาชญากรรม
ผู้มีพลังพิเศษจะน่าสนใจแต่การยัดเรื่องราวมหาศาลของมันก็ทำให้ผลทางดราม่าที่เป็นหัวใจหลักอย่างความสัมพันธ์แม่ลูกของคอนเนอร์ที่หนังพยายามบิลต์ไม่ทำงานเท่าที่ควร
ความรู้สึกหลังดู
โดยเวอร์ชันหนังใหญ่ของ CODE 8 ก็เหมือนเป็นการขยายความหมายของชื่อเรื่องที่หมายถึงอาชญากรรมโดยผู้มีพลังพิเศษ แน่นอนล่ะว่ามันคือการเปรียบเปรย (Allergory) กับการเลือกปฏิบัติกับผู้อพยพหรือพลเมืองชั้น 2 ในอเมริกาและสามารถวิพากษ์เรื่องชนชั้นได้เห็นภาพแถมไปไกลถึงขั้นเล่าฉาก Prologue
หรือ อารัมภบท โดยเอาฟุตเทจข่าวมาใส่เสียงบรรยายและมีถ่ายเป็นเชิงสารคดีว่าเมืองลินด์คอนที่เป็นฉากหลังถูกสร้างโดยกลุ่มผู้มีพลังพิเศษก่อนถูกกีดกันจนต้องมีชีวิตยากลำบาก และทีละน้อยที่คราวนี้บทหนังของ เจฟฟ์ ชาน และ คริส แพร์ เลือกจะเอาดรามาเป็นศูนย์กลางการเล่าเรื่อง
โดยตัดปะเปลี่ยนทรงเพิ่มความเมโลดราม่าด้วยการสร้างให้ คอนเนอร์ รีด กลายเป็นลูกกตัญญูที่ต้องหาเงินมารักษาแม่ เดินคู่ขนานไปกับโลกอาชญากรรมที่ก็ยิ่งเปรียบเปรยกับโลกความจริงไปอี๊ก ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าทั้งคู่มีความครีเอตในการคิดเรื่องราวและสร้างโลกของหนังขึ้นมาจนมันแตะ ๆ จะเป็นไซไฟการเมืองที่มีอ้างอิงเด่นชัดมากคือ Distirct 9
ของ นีล บลอมแคมป์ แต่จุดที่มันไปไม่ถึงคือการที่บทหนังไม่เลือกตัดอะไรออกเสียบ้างจนความรุงรังของเรื่องเล่าที่มีทั้งแม่ป่วย องค์กรอาชญากรรมของเหล่าผู้มีพลังพิเศษ ไปจนถึงเรื่องราวความลับของครอบครัวเจ้าหน้าที่ปาร์ค เป็นเหมือนภาระที่หนังต้องหาทางลงให้ได้จนอารมณ์ดราม่าที่หนังพยายามปูให้เราลุ้นตามพระเอกไม่ได้ทำงานเท่าที่ควร มิ
หนำซ้ำสิ่งที่บทหนังละเลยอย่างไม่น่าให้อภัยคือพัฒนาการของตัวละครนี่แหละที่พอดูจนจบแล้วมันคงที่ตลอดซึ่งก็ถือเป็นปัญหาสามัญของการดัดแปลงหนังสั้นไอเดียล้ำ ๆ มาเป็นหนังยาวหลายเรื่อง กรณีศึกษาชัดเจนที่สุดก็หนีไม่พ้นหนังอย่าง Skyline นั่นแหละครับ
ด้านนักแสดงที่กลับมารับบทเดิมก็ยังคงคาแรกเตอร์จากหนังสั้นไว้แบบไม่ผิดเพี้ยนทั้งบทคอนเนอร์ของ รอบบี เอเมล ที่แม้ว่าจะเผชิญกับความบัดซบของชีวิตมากขึ้นในฉบับหนังยาวนี้แต่ก็ยังติดว่าหนังต้องสร้างพระเอกจนมันกลายคาแรกเตอร์ที่ดูน่าเบื่อ
ไม่เป็นมนุษย์เท่าที่ควรแม้จะมีแอบเลวอยู่ช่วงหนึ่งก็ยังเลวไม่สุด แถมเวลาอยู่ใกล้ ๆ พี่ชายอย่าง สตีเฟน เอเมล ยังถูกบดบังรัศมีจนแทบไม่มีตัวตนด้วยซ้ำแม้บท แกเรต ของสตีเฟนจะแทบหาเหตุผลรองรับการมีอยู่ได้น้อยเต็มทีก็ตาม ส่วน ซุง คัง
ที่น่าจะเป็นดาราเรียกแขกที่สุดแล้วก็ยังได้คาแรกเตอร์เท่ ๆ เช่นเดิมอย่างบทเจ้าหน้าที่ปาร์ค หน่วยปปส.ที่มีความสีเทาในคาแรกเตอร์แต่ด้วยเวลาของหนังที่น้อยมากก็ทำให้รายละเอียดที่บทหนังพยายามเล่าไปไม่ถึงแถมยังถูกใส่เรื่องของลูกสาวเข้ามาแบบงง ๆ เพื่อหวังให้เหตุผลว่าทำไมเขาถึงเห็นใจพวกมีพลังก็ทำให้เรื่องราวดูรกรุงรังโดยใช่เหตุอีกด้วย
เตือนไว้ก่อนว่า CODE 8 ไม่ใช่หนังบู๊ ไซไฟ แอ็กชัน เหมือนตัวอย่างหนังพยายามทำให้เข้าใจผิด แต่มันคือหนังดรามาที่พยายามแตะประเด็นการเมืองที่ทำให้นึกถึง District 9 ไม่น้อยและยังเกาะกระแสหนังมนุษย์กลายพันธุ์ ฮีโรพลังพิเศษนอกค่ายมาร์เวล ดีซี แบบ PUSH หรือ Chronicle เพียงแต่บทหนังที่พยายามใส่อะไรมากเกินพอดีเลยทำให้พลังของเรื่องราวของมันแผ่วลงไปอย่างน่าเสียดาย
เป็นเรื่องราวของผู้ที่พลังวิเศษแต่กลายเป็นว่าเขาถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม ถูกกดขี่ต่าง ๆ นานา ไม่มีงานจะทำเนื่องจากผู้คนได้หวาดกลัวพลังของพวกเขา ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้ส่งผลกระทบกับ คอนเนอร์ รีด (ร็อบบี เอเมล) ชายหนุ่มที่เกิดมาพร้อมกับพลังวิเศษคือไฟฟ้า
เมื่อแม่ของเขาได้มาป่วยเป็นโรคมะเร็งทำให้เธอควบคุมพลังของตนเองไม่ได้ เขาจึงหมดหนทาง จึงหันไปหาทางออกโดยพึ่งงานอาชญากรรมแทน โดนหันหลังให้กับกฎหมายที่กดขี่แล้วทำทุกวิธีทางเพื่อหาเงินมารักษาชีวิตแม่ของเขา
เรื่องนี้มีพล็อตเรื่องที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นพล็อตเรื่องของการที่คนมีพลังวิเศษนั้นถูกกดขี่จากสังคม ไม่ได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน ซึ่งพล็อตหนังเรื่องนี้ก็ได้เป็นการนำพล็อตหนังจากเรื่องสั้นชื่อดังมาขยายทำต่อ แต่ก็อาจจะกลายเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียที่พล็อตเรื่องที่เป็นแกนหลักนั้นถือว่าดี
แต่เมื่อเอามาขยายเป็นหนังยาวแล้ว อาจจะทำให้มีบางช่วงที่ดูเหมือนจะยื้อเยื้อจนเกินไป แต่ก็ถือว่าเป็นหนังที่ทำออกมาได้ไม่แย่ มีการเปรียบเปรยเรื่องราวของสังคมซ่อนอยู่ภายในเรื่อง ชี้ให้เห็นถึงสังคมที่แบ่งแยกคนที่แตกต่าง จนทำให้เขาต้องแหกกฎออกมา
จากตัวอย่างของหนังเรื่องนี้ ใครหลาย ๆ คนอาจจะคาดหวังฉากบู๊แอ็คชั่นไซไฟหนัก ๆ แต่ขอบอกเลยว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้เน้นไปที่เรื่องของการบู๊ล้างผลาญมากขนาดนั้น แต่จะเป็นการเน้นไปในเรื่องของความดราม่า ที่แสดงออกมาผ่านตัวละครต่าง ๆ รวมถึงปมของทุกตัวละคร ที่จะมาดึงอารมณ์ของเราได้เป็นอย่างดีในบางช่วง
และแม้ตัวละครเอกเองก็มีช่วงที่เหมือนกับเป็นการทดสอบจิตใจ วัดความดีความเลวในตัว แต่มุมมองนี้ก็ถูกทำออกมาได้อย่างน่าสนใจที่ว่า ตัวละครหนึ่งก็ไม่ได้มีเพียงแค่สีขาว หรือสีดำ แต่ทุก ๆ ตัวละครก็มีส่วนที่เป็นสีเทาด้วยกันทั้งนั้น
จุดเด่น
ไอเดียมนุษย์พลังพิเศษถูกเลือกปฏิบัติน่าสนใจ
งานเทคนิกพิเศษในแง่หนังทุนต่ำถือว่าทำได้เนียนตาอยู่
จุดสังเกต
บทไม่ให้ตัวละครมีพัฒนาการอะไรเลย
บทหนังยัดรายละเอียดมาแน่นจนเป็นภาระในการเล่าเรื่อง
ดราม่าพระเอกรักแม่คือไม่ทำงานเลย